ภาวะท้องผูกแบบไหน อันตราย … ต้องรีบรักษา

ท้องผูกเรื้อรัง ต้องรีบแก้ไขก่อนเกิดโรคร้าย

อาการ “ท้องผูก” เป็นปัญหาที่คนส่วนมากมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะคิดว่าแค่กินยาระบายก็ทำให้ถ่ายได้แล้ว ดังนั้นพอเป็นอีกก็กินยาอีกไปเรื่อยๆ แต่หารู้ไม่ว่า…หากกินยาช่วยถ่ายแบบนี้เป็นประจำ นอกจากโรคท้องผูกจะไม่หายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายตามมาอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง คือ?

โดยปกติคนเราจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมีอาการถ่ายยากติดต่อกันนานเป็นเดือน อาจบ่งชี้ได้ว่าเรามี “ภาวะท้องผูกเรื้อรัง” ทั้งนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว อาการท้องผูกของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรวัดเดียวกัน และไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง หรือความสม่ำเสมอในการขับถ่ายเสมอไป ตราบใดที่เรายังสามารถขับถ่ายได้อย่างสบาย ไร้ปัญหา ไม่ต้องเบ่ง และอุจจาระมีลักษณะนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้จะถ่ายไม่สม่ำเสมอก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

ระหว่างท้องผูกฉับพลัน..กับ..ท้องผูกเรื้อรัง แบบไหนต้องรักษา?

ภาวะ “ท้องผูก” ของบางคน อาจจะถ่ายลำบาก ต้องเบ่งถ่าย มีอุจจาระแข็ง หรือบางคนอาจจะนานๆ ถ่ายที ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาวะท้องผูก แต่หากมีอาการแค่ 2-3 วัน อาจเป็นแค่ “ภาวะท้องผูกฉับพลัน” ที่มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ความเจ็บป่วย การกินยา การเดินทาง หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ภาวะนี้เพียงแค่ปรับการใช้ชีวิต ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย หรือสามารถซื้อยาระบายมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่หากมีอาการนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปี นั่นคือ “ภาวะท้องผูกเรื้อรัง” ซึ่งควรเข้ารับการรักษาและต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับจะดีที่สุด

อาการแบบไหน? ที่เรียกว่า…ภาวะท้องผูกเรื้อรัง

อาการท้องผูกในทางการแพทย์ คือกลุ่มอาการต่างๆ ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • ต้องเบ่งมากกว่าปกติจึงจะถ่ายออก
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอุดตันอยู่ในลำไส้ตรง และขัดขวางการขับถ่ายอุจจาระ
  • รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
  • ต้องกดนวดหน้าท้องเพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น หรือต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ

ภาวะท้องผูกเรื้อรัง…เกิดจากสาเหตุใด?

  • เกิดจากโรคทางกาย
  • เบาหวาน
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
  • โรคทางระบบประสาทต่างๆ เช่น การบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS)
  • เกิดจากยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาในกลุ่มโอปิแอต (Opiate) ยาต้านแคลเซียม ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic drug) ยาต้านอาการทางจิต ยาขับปัสสาวะ อาหารเสริมแคลเซียม อาหารเสริมธาตุเหล็ก ยาแก้แพ้ ยาลดกรด โดยเฉพาะชนิดที่มีแคลเซียมสูง
  • การทำงานของลำไส้ หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ
  • มีความผิดปกติที่ทวารหนัก หรือลำไส้ตรงฉีกขาด
  • มีภาวะลำไส้ตีบตัน หรือลำไส้แปรปรวน
  • มีปัญหาสุขภาพทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคการกินผิดปกติ
  • ความบกพร่องทางร่างกายที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก เช่น ผู้ป่วยติดเตียง
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย

ปรับตัวปรับพฤติกรรม…ลดเสี่ยง “ท้องผูกเรื้อรัง” ได้

ถ้าไม่อยากทรมานกับ “อาการท้องผูกเรื้อรัง” เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ก็ช่วยให้เราสามารถขับถ่ายได้ดีขึ้น

  • หากปวดอุจจาระ ควรรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ทำได้ อย่ากลั้นเอาไว้
  • กินอาหารที่มีกากใยและไฟเบอร์สูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ลดการกินอาหารจำพวกเนื้อแดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารแปรรูป
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ถ่ายง่าย
  • ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานปกติ
  • พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา
  • เมื่อรู้สึกเครียดควรหากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง เดินเล่น ดูหนังที่ชอบ

ใครก็ตามที่มีความผิดปกติในเรื่องระบบการขับถ่าย ให้รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกต้องตรงสาเหตุ เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดโรคร้ายแรงแทรกซ้อนขึ้นมาได้

“การขับถ่าย” ถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน หากเรามีการขับถ่ายที่ดี ก็จะช่วยให้ในแต่ละวันของเราสดใส สบายท้องไปทั้งวัน

ขอขอบคุณบทความจาก : นพ.อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

https://bit.ly/3Tz9otV

จัดจำหน่ายโดย
บริษัท สกิน ลาบอราทอรี่ จำกัด
42/60 ถ.เลี่ยงเมืองปากเกร็ด ต.บางตลาด
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
โทร 0626548294
E-mail: [email protected]

ติดต่อสอบถาม

*ป้อนข้อมูลของท่านให้ครบถ้วน ทางเราจะใช้ข้อมูลนี้ติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับท่านเท่านั้น ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย
© SynBio+ All rights resevers