โพรไบโอติกส์ (Probiotics) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร และต่างกันยังไงนะ

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) สองคำนี้เหมือนกันหรือไม่?

ในร่างกายของเรานั้นมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จุลินทรีย์ที่ไม่ก่อประโยชน์และโทษและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย หากเกิดความผิดปกติในร่างกาย อาจส่งผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาดเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย โดยคำคุ้นหูที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งคือ “โพรไบโอติกส์” และ “พรีไบโอติกส์” มีความแตกต่างกัน ดังนี้

โพรไบโอติกส์คืออะไร ?

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ให้คำจำกัดความว่า โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่างๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้”

พรีไบโอติกส์คืออะไร ?

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

กล่าวง่ายๆ ก็คือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น

ทำไมเราถึงควรได้รับโพรไบโอติกส์เสริม?

โพรไบโอติกส์จัดเป็นจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ normal flora อย่างหนึ่งในทางเดินอาหาร หากร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้

ลองจินตนาการดู หากร่างกายได้รับยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน ยาเหล่านี้ส่งผลให้จุลินทรีย์ในร่างกายมีจำนวนลดลง เมื่อร่างกายมีการรับเชื้ออื่นซึ่งอาจก่อโรคเข้ามา อาจมีโอกาสสูญเสียจุลินทรีย์ดีในร่างกายได้ ดังนั้นการสร้างสภาวะความสมดุลระหว่าง normal flora และร่างกายนั้นจึงมีความสำคัญ ซึ่งการรับประทานโพรไบโอติกส์จึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย

มีจุลินทรีย์ใดบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มโพรไบโอติกส์?

ในปัจจุบันโพรไบโอติกส์ที่เราพบเห็นกันได้ในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผงแป้ง (Powders), รูปแบบแคปซูล (Capsules), รูปแบบยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablets), รูปแบบสารละลาย(Solution drops) หรือรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด (Vaginal Tablets) โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีวีธีการเก็บรักษาและประกอบไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเชื้อที่พบเห็นได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ กลุ่ม Lactobacillus spp. เป็นแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้และ Bifidobacterium spp. เป็นแบคทีเรียที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร สามารถอยู่ในลำไส้ได้นาน เช่น Bifidobacterium longum, Bifidobacterium bifidum, Lactobacillus acidophilus, Bifidobacterium infantis, Lactobacillus casei subsps, และ Lactococcus lactis เป็นต้น
  • เชื้อยีสต์ เช่น Saccharomyces boulardii เป็นต้น

    พรีไบโอติกส์ในท้องตลาดมีรูปแบบใดบ้าง?

    พรีไบโอติกส์ที่พบเห็นในท้องตลาดนั้น ส่วนใหญ่มักจะพบในรูปแบบผงแป้ง (Powders) ประกอบไปด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของคาร์โบไฮเดรต เช่น สารกลุ่มอินูลินและฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์หรือในบางผลิตภัณฑ์อาจจำหน่ายในรูปแบบสูตรผสม ประกอบด้วยโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ในตัวเดียวผลิตภัณฑ์เดียวกัน

    บทบาทของโพรไบโอติกส์ในร่างกายมีอะไรบ้าง?

    โพรไบโอติกส์มีบทบาทมากมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ในร่างกาย ดังนี้

    • ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้
    • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย
    • กระตุ้นระบบการย่อยอาหารโดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิด
    • ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป
    • เหนี่ยวนำการกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างสารป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้

    โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

    จากการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ในการรักษาหรือช่วยบรรเทาความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่น

    โรคระบบทางเดินอาหารอาการลำไส้แปรปรวน, กรดไหลย้อน, ท้องผูก, ท้องร่วงจากการติดเชื้อ, ท้องร่วงอันเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน, ภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตส
    โรคภูมิแพ้ผื่นแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้อากาศ
    โรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ภาวะติดเชื้อในช่องคลอด, ช่องคลอดแห้งหลังหมดประจำเดือน
    โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

    ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น โดยมีการปรับสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสมและเสริมฤทธิ์กันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์ โดยประเภทและสายพันธุ์ของโพรไบโอติกส์ที่ต่างกันล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป

    อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังจากรับประทานโพรไบโอติกส์?

    ส่วนใหญ่มักพบเมื่อมีการรับประทานในขนาดที่สูงเกินไป โดยอาจจะทำให้เกิดภาวะลมในท้องเพิ่มขึ้น เกิดท้องอืดหรือแน่นท้องได้

    ขอขอบคุณบทความจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในกรุงเทพ

    https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics

    จัดจำหน่ายโดย
    บริษัท สกิน ลาบอราทอรี่ จำกัด
    42/60 ถ.เลี่ยงเมืองปากเกร็ด ต.บางตลาด
    อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
    โทร 0626548294
    E-mail: [email protected]

    ติดต่อสอบถาม

    *ป้อนข้อมูลของท่านให้ครบถ้วน ทางเราจะใช้ข้อมูลนี้ติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับท่านเท่านั้น ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย
    © SynBio+ All rights resevers